แพทย์แนะนำสร้างและสะสมมวลกระดูกของบุตรหลาน ลดความเสี่ยงโรค “กระดูกพรุน” ในอนาคต

แพทย์แนะนำสร้างและสะสมมวลกระดูกของบุตรหลาน ลดความเสี่ยงโรค “กระดูกพรุน” ในอนาคต

เด็ก

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) และภาวะกระดูกบาง (Osteopenia)  คือภาวะที่ร่างกายมีความหนาแน่นของกระดูก (Bone Density) และคุณภาพของกระดูก (Bone quality) ที่ลดลง ส่งผลให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง ทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น แม้เกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อย นำมาซึ่งภาวะทุพพลภาพทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนเสียชีวิตได้

จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าโรคกระดูกพรุนเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในลำดับที่ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยสอดคล้องกับข้อมูลของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติพบว่า ประชากรไทยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 80 – 90% ยังไม่ได้รับการประเมินและรักษา โรคกระดูกพรุนถือเป็นภัยเงียบที่ไม่มีสัญญาณเตือนเมื่อเกิดร่วมกับกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตในปีแรกถึง 17 % และมีสัดส่วน 80% ที่ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

นพ.ศรัณย์ จินดาหรา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ  เผยว่า โรคกระดูกพรุนเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลักใหญ่ คือ ปริมาณมวลกระดูกที่สะสม (Peak bone mass) ไว้มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือ มีการสลายของกระดูกมากกว่าปกติ โดยปกติแล้วมวลกระดูกนั้นจะเพิ่มสูงสุดอยู่ในระหว่างช่วงอายุ 30 – 34 ปี หลังจากนั้นจะมีการสูญเสียของมวลกระดูกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในสตรีเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วในระยะ 5 ปีแรกและลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามกระดูกของเด็กในวัยนี้จะแข็งแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอาหารเป็นสำคัญ เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายรวมถึงมวลกระดูก โดยเฉพาะปริมาณของแคลเซียมที่รับประทานเข้าไปมีความสำคัญมากต่อมวลกระดูกและการเจริญเติบโตของกระดูก

ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ละวัย ดังนี้ เด็ก 6 เดือนแรก ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 400 มิลลิกรัมต่อวันเด็กอายุ 6 เดือน -1 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 600 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กอายุ 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 700 มิลลิกรัมต่อวัน เด็กอายุ 4-8 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน และเด็กอายุ 9-18 ปี ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,300 มิลลิกรัมต่อวัน (1)

ทั้งนี้อาหารที่มีปริมาณแคลเซียมมากและดูดซึมได้ดี คือ นมหรือผลิตภัณฑ์จากนม (นม 1 กล่อง ปริมาณ 250 ซีซี ให้แคลเซียม 300 มิลลิกรัม) อาหารอื่นๆ ที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ผักที่มีแคลเซียมสูง เช่น คะน้า ตำลึง ผักกระเฉด ขี้เหล็ก ดอกแค สะเดา

3 วิธีช่วยให้กระดูกแข็งแรง

การเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงสามารถทำได้ทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนอายุ 30 ปี เป็นการป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด

  1. ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (Weight Bearing Exercise) และแบบเพิ่มแรงต้านอย่างสม่ำเสมอ (Resistant Exercise) โดยใช้เท้าและขา หรือมือและแขน ในการรับน้ำหนักของตัวเอง เช่น การเต้นแอโรบิก ฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน วิ่ง หรือการเดิน
  2. การได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอและเหมาะสม ตามคำแนะนำของมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2564 มีดังนี้
  • สำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และหญิงวัยหมดประจำเดือน ควรได้รับปริมาณแคลเซียม 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยเน้นการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง
  • ไม่แนะนำให้รับประทานแคลเซียมมากกว่า 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งรวมทั้งแคลเซียมจากอาหารและแคลเซียมเสริม สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัตินิ่วในไต ควรได้รับการประเมินสาเหตุของการเกิดนิ่ว ส่วนประกอบของนิ่วก่อนให้แคลเซียมเสริม
  1. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ หรือแอลกอฮอล์ ที่มีผลให้มวลกระดูกลดลง

นพ.ศรัณย์ ยังกล่าวอีกด้วยว่าภาวะกระดูกสันหลังหักจากโรคกระดูกพรุน อาจจะมีอาการปวดเรื้อรังเพียงเล็กน้อย ตัวเตี้ยลง หลังค่อม หลังคด ท้องอืด เบื่ออาหาร เนื่องจากความจุในช่องท้องลดลง ไปจนถึงผู้ป่วยมีอาการปวดมากจนไม่สามารถลุกเดินได้

ในกรณีที่สงสัยว่ากระดูกสันหลังของคุณเกิดการยุบตัวจากภาวะกระดูกพรุน สามารถตรวจได้ด้วยการทำ X-ray ร่วมกับ MRI จะช่วยให้การวินิจฉัยภาวะผิดปกตินี้ได้ สามารถเข้ามาปรึกษาที่ โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลังและระบบประสาท เพื่อแพทย์จะได้ทำการวินิจฉัยได้อย่างตรงจุด

แนะนำข่าวเด็ก อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กเลย : ตัดเล็บให้ลูกน้อยอย่างไรให้ถูกต้อง เลี่ยงอาการบาดเจ็บไปพร้อมกัน

 

ตัดเล็บให้ลูกน้อยอย่างไรให้ถูกต้อง เลี่ยงอาการบาดเจ็บไปพร้อมกัน

ตัดเล็บให้ลูกน้อยอย่างไรให้ถูกต้อง เลี่ยงอาการบาดเจ็บไปพร้อมกัน

เด็ก

เชื่อว่าหนึ่งในความท้าทายของพ่อแม่ที่มีลูกน้อยก็คือ การตัดเล็บของลูกให้ปลอดภัย เพราะโดยส่วนใหญ่มักจะทำให้เกิดข้อผิดพลาดบ่อยมาก เนื่องจากความไม่นิ่งของมือลูกๆ มักทำให้ลูกน้อยเกิดอาการบาดเจ็บในระหว่างที่พ่อแม่ตัดเล็บให้อยู่บ่อยๆ วันนี้เราจึงรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการตัดเล็บให้ลูกน้อยได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ให้เข้าเนื้อและไม่ทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บมาฝากกันค่ะ

วิธีเลือกกรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็ก
ในส่วนของการเลือกกรรไกรตัดเล็บสำหรับลูกน้อยนั้น พ่อแม่จะต้องเลือกกรรไกรตัดเล็บที่ใช้สำหรับตัดเล็บของเด็กโดยเฉพาะ โดยปลายกรรไกรของกรรไกรตัดเล็บจะต้องมีปลายมน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดนิ้ว อีกทั้งปลายกรรไกรตัดเล็บส่วนที่ตัดนั้น จะต้องมีขนาดความยาวที่เหมาะกับขนาดของเล็บลูก ด้ามจับของกรรไกรต้องมีขนาดที่เหมาะสมหรือผู้ตัดจับได้ถนัดมือ

พ่อแม่ควรตัดเล็บลูกน้อยบ่อยแค่ไหน
โดยปกติแล้วเล็บของทารกจะยาวเฉลี่ยวันละ 0.1 มิลลิเมตร ดังนั้นจึงควรตัดเล็บของลูกน้อยทุกๆ  1-2 สัปดาห์ หรือไม่ก็ตัดทุกครั้งที่เห็นความยาวเล็บของลูกน้อยเลยมาที่ปลายนิ้วส่วนที่เป็นเนื้อออกมา

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก่อนตัดเล็บลูกน้อย
การตัดเล็บให้ลูกน้อยนั้น ไม่ควรเตรียมแค่เพียงที่ตัดเล็บเท่านั้น แต่ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่พ่อแม่จะต้องเตรียมให้พร้อมก่อนตัดเล็บให้ลูกน้อย ซึ่งมีดังนี้

1.กรรไกรตัดเล็บสำหรับเด็ก

2.แอลกอฮอล์ เพื่อเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ตัดเล็บ

3.ผ้านุ่มๆ ที่ชุบน้ำอุ่นพอหมาด เพื่อใช้สำหรับเช็ดมือและเล็บของลูก

4.ครีมบำรุงผิวสำหรับเด็ก ซึ่งแนะนำให้ทาหลังตัดเล็บเพื่อให้เล็บของลูกน้อยมีความนุ่มและไม่คม

วิธีตัดเล็บลูกน้อย

ในส่วนของวิธีการตัดเล็บให้ลูกน้อย พ่อแม่สามารถทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1.พยายามตัดเล็บให้ลูกในช่วงที่ลูกหลับสนิท หรือหากจำเป็นต้องตัดในขณะที่ลูกไม่ได้หลับ ควรหาผู้ช่วยเพื่อจับมือลูก ที่สำคัญควรเลือกตัดเล็บให้ลูกในขณะที่ลูกอารมณ์ดี

2.ก่อนตัดเล็บให้ลูก พ่อแม่จะต้องทำความสะอาดกรรไกรตัดเล็บเสียก่อน รวมทั้งพ่อแม่เองก็ต้องล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ส่วนมือของลูกก็ควรเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นพอหมาด

3.พ่อแม่ควรเริ่มวางกรรไกรตัดเล็บให้แนบปลายนิ้ว จากนั้นค่อยๆ ตัดขนานกับปลายนิ้ว ในส่วนของมุมเล็บหากมีความแหลม แนะนำให้ใช้กรรไกรตัดเล็บเล็มให้เรียบร้อย

4.หลังจากตัดเล็บให้ลูกน้อยเสร็จเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมทาโลชั่นที่มือของลูกน้อยเพื่อเพิ่มความอ่อนนุ่มให้เล็บที่เพิ่งตัดเสร็จ

จะเห็นได้ว่าการตัดเล็บให้ลูกน้อยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินความสามารถของพ่อแม่เลย เพียงแต่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและจะต้องใส่ใจในระหว่างการตัดให้มากแค่นั้นเอง เนื่องจากผิวของลูกน้อยมีความบอบบางอย่างมาก จึงมีโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บได้ง่าย